หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว พม่าตั้งใจจะมิให้ไทยตั้งตัวได้อีก จึงเผาผลาญทำลายปราสาทราชวัง วัดวาอาราม ตลอดจนบ้านเรือนของราษฎรเสียหายยับเยิน ทั้งยังกวาดต้อนผู้คนเก็บทรัพย์สมบัติไปจนหมดสิ้น กรุงศรีอยุธยาซึ่งเคยเป็นราชธานีของไทยที่ยืนยาวมาหลายร้อยปี ก็ถึงกาลพินาศล่มจมนับพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยารวมทั้งสิ้น ๓๔ พระองค์
จากข้อความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า “…..พม่ายกทัพเรือออกไปตีเมืองปราจิณแตก…..” ก็แสดงให้เห็นว่า ในการสงครามครั้งนี้ เมืองปราจิณต้องถูกพม่าทำลายบ้านเมืองด้วย และคงกวาดต้อนราษฎรไปด้วยเป็นอันมาก จากซากกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า เมืองปราจิณซึ่งถูกกองทัพพม่าบุกยึดเมืองได้ คงถูกทำลายเสียหายย่อยยับเช่นเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา
ในช่วงเหตุการณ์ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ นี้ เมืองปราจิณได้มีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คือ พระยาตาก ขณะนั้นเป็นพระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งชาวไทยและชาวจีน ตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาออกมาได้ขณะหยุดประทับ ณ บ้านพรานนก ความทราบถึงกองกำลังของทหารพม่าซึ่งตั้งมั่นรักษาเมืองปราจิณอยู่ที่บ้านบางคาง (ปัจจุบันคือบ้านบางคาง ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวัน-ตกห่างจากตัวเมืองปราจิณประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ จึงนำกำลังไปปราบปราม ปะทะกับทหารไทย-จีน ของพระยาตากที่ออกมาหาเสบียงอาหาร ผลปรากฏว่าฝ่ายพระยาตากได้รับชัยชนะ ทำให้พระยาตากเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาชาวไทยทั่วๆ ไป และเป็นที่ยำเกรงของพม่า ตลอดจนหมู่คนไทยจากชุมนุมต่างๆ ต่อมาพระยาตากได้ยกกองทัพมาถึงเมืองปราจิณ ข้ามแม่น้ำปราจีนบุรีที่ด่านกบแจะ (ปัจจุบันคือ วัดกระแจะ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี) แล้วเดินทัพตัดออกทางบ้านคู้ลำพัน (ตำบลคู้ลำพัน อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี) และหยุดพักไพร่พลเพื่อหุงหาอาหารทางด้านฟากตะวันออกที่ชายดงศรีมหาโพธิ (บริเวณลานต้นโพธิ์ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี) หลังจากนั้นก็เดินทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี ต่อไปจนถึงเมืองระยองเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จยึดเป็นที่มั่นรวบรวมซ่องสุมกำลังเพื่อกู้ราชธานี กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า
ท้ายที่สุดพระยาตาก* ก็รวบรวมและปราบปรามชุมนุมต่างๆ จนราบคาบและสามารถกู้ อิสรภาพให้พ้นจากอำนาจของพม่าได้ ดังนั้นในวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑ พระยาตากจึงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ซึ่งปัจจุบันได้ถวายพระราชสมญาว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น พระราชพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองปราจิณเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทั้งนี้ เพราะในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นช่วงระยะฟื้นฟูประเทศ ตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ถ้าไม่ทำสงครามกับพม่าก็ต้องปราบปรามชุมนุมต่างๆ ของไทย เพื่อรวบรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยของพระบริหารเทพธานี ได้เขียนไว้ว่าใน พ.ศ. ๒๓๑๒ พระรามราชาเกิดผิดใจกับพระนารายณ์ราชา พระรามราชากษัตริย์ของเขมร จึงขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดฯ ให้พระยาโกษาธิบดี (ล่าย) ยกทัพไปปราบพระนารายณ์ราชา พระยาโกษาธิบดียึดได้เมืองพระตะบอง เสียมราฐ กลับมาได้ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ ในการปราบเขมรครั้งนี้ เมืองปราจิณซึ่งเป็นหัวเมืองชายแดนทางตะวันออกคงถูกเกณฑ์ชายฉกรรจ์ไปร่วมสงครามด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏในสำเนาท้องตรา พ.ศ. ๒๓๑๖ ว่า พระปราจิณบุรีได้มีท้องตราแจ้งว่าพม่าและลาวยกพลมาตั้งที่ตำบลท่ากระเล็บนอกด่านพระจารึก จึงได้โปรดให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองต่างๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออกไปช่วยรบ จึงอาจสรุปได้ว่าเมืองปราจิณคงได้รับการบูรณะ
ในฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของกรุงธนบุรี และคงอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่านทางด้านเขมรจวบจนสิ้นสมัยกรุงธนบุรี
ตามรอยพระเจ้าตาก
แผนที่แสดงเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตาก ออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปตั้งหลักที่จันทบุรี แล้วยกกลับขับไล่ข้าศึกเพื่อสถาปนากรุงธนบุรี
เส้นทางพระเจ้าตากจากอยุธยาไปเมืองจันทบุรี
วันเสาร์ ตอนเที่ยงคืน ปลายปี พ.ศ. 2309 (ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310) เกิดไฟไหม้ขึ้นในพระนครศรีอยุธยา
ไฟไหม้ในพระนครยังไม่ดับ พระยาตากก็ยกสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนออกจากค่ายวัดพิชัย เดินทัพมุ่งตะวันออกไปทางบ้านหันตรา, บ้านข้าวเม่า, บ้านสามบัณฑิต, โพสาวหาญ ปะทะไพร่พลของอังวะที่ล้อมกรุงเป็นครั้งคราว แล้วรอดได้จนถึงบ้านพรานนก หยุดพักแรม
ด้วยเหตุที่ต้องหลบกองตระเวนของพวกอังวะซึ่งอยู่ทางที่ลุ่มๆ ตอนล่างๆ พระยาตากเดินทางเลียบที่ดอนเชิงเขา (เขต อ. หนองแค และ อ. วิหารแดง จ. สระบุรี) ได้กำลังและเสบียงเพิ่มจากบ้านดง
แล้วเดินทางต่อไปผ่านบ้านต่างๆ ไพร่พลและชาวบ้านที่เลื่อมใส พากันยกพระยาตากเป็นพระราชาเสมือนเป็นพระเจ้าตาก แล้วหยุดประทับที่ตำบลหนองไม้ซุง เมืองนครนายก
ด่านกบแจะ
พระเจ้าตากยกพลรอนแรมไปอีกสองวันก็ถึงเขตเมืองปราจีนบุรี แล้วมุ่งไปข้ามลำน้ำที่ด่านกบแจะ (มีบอกไว้ชัดเจนในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับอื่นๆ จึงไม่ใช่บางกระจะตามที่มีผู้พยายามจะลากชื่อกบแจะ เป็น กระจะ)
ด่านกบแจะ เป็นด่านควบคุมดูแลเส้นทางคมนาคม บริเวณสามแพร่งลำน้ำ 2 สายไหลสบกัน คือ แม่น้ำปราจีนบุรี (ต้นน้ำบางปะกง) ไหลมาจากเทือกเขาสอยดาว เมืองจันทบุรี กับคลองประจันตคาม ไหลมาจากเทือกเขาใหญ่
ในหน้าร้อนสงกรานต์ น้ำแห้ง คนเดินข้ามได้สะดวก จึงเป็นเส้นทางสำคัญของชาวบ้านยุคอยุธยา ใช้เดินไปมาค้าขายและหาของป่า กับเป็นเส้นทางเดินทัพ
จึงมีด่านทางเรียก ด่านกบแจะ อยู่บริเวณวัดกระแจะ บ้านวังกระแจะ ต. ท่างาม อ. เมือง จ. จันทบุรี (ชื่อวัดกระแจะ กลายจากชื่อ ด่านกบแจะ)
แม่น้ำปราจีนบุรี เป็นเส้นทางไปเมืองเสียมเรียบ บริเวณโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) ในกัมพูชา จึงมีด่านทางเป็นระยะๆ จากด่านกบแจะถัดไปทางทิศตะวันออก เป็นด่านหนุมาน (อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี), ด่านพระจารึก (อ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว)
ให้พักรี้พลหุงอาหาร กินเสร็จแล้วเดินทัพข้ามทุ่งไปจนตกเย็น หยุดพักทัพรอสมัครพรรคพวกที่ตามไม่ทันอยู่ 3 วัน (เอกสารบางเล่มบอกว่าอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ เขตติดต่อ อ. ศรีมหาโพธิ กับ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี)ฝ่ายอังวะเกณฑ์ทัพเรือให้ขึ้นมาสมทบกับทัพบกตั้งอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ (โจ้โล้) ยกไปขึ้นที่ท่าข้าม ติดตามกองพระเจ้าตาก ได้รบกันหนักจนอังวะแตกกระจัดกระจายพ่ายไป
จากนั้นพระเจ้าตากยกพลหลบกองตระเวนของอังวะ ซึ่งอยู่ที่ลุ่มปากน้ำโจ้โล้ โดยเลี่ยงไปทางที่ดอนเชิงเขาดงยาง (จ. ฉะเชิงเทรา) แล้วเข้าเขตเมืองชลบุรี, บ้านทองหลาง, บ้านสะพานทอง, ไปบางปลาสร้อย ก็เป็นอันพ้นกองทัพอังวะ เข้าสู่ระยอง และไปถึงจันทบุรี
ขอบคุณที่นำประวัติศาสตร์ของไทยให้ความรู้ รู้สึกระลึกถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษที่ร่วมกันกู้ชาติให้คนรุ่นหลังได้อยู่อย่างเป็นอิสระ ร่มเย็น เป็นสุข
ตอบลบ